หากยังจำวรรณดีเรื่องสังข์ทองได้ดี ในตอนที่พระสังข์หลบหนีนางพันธุรัตจนเป็นเหตุให้นางต้องอกแตกตาย เพราะความรักในตัวพระสังข์นั้น จากตำนานเรื่องนี้ได้นำไปสู่การเป็นที่มาของชื่อเทือกเขาที่มีรูปร่าง คล้ายกับคนนอนหงายในยามที่มองเห็นมาแต่ไกลว่า “เทือกเขานางพันธุรัต” ซึ่งบางครั้งชาวบ้านพากันเรียกว่า “เขานางนอน” นั่นเอง อย่างไรก็ตามเขานางพันธุรัตมีความสำคัญยิ่งกว่าการเป็นเพียงแค่สถานที่ในตำนาน ตรงที่การเป็นพื้นที่โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพพื้นที่เขานางพันธุรัต อันเนื่องมาจากพระราชดำริและผลลัพธ์ที่ตามมานั้นได้ทำให้ทิวเขาสีน้ำตาลแห้งแล้งถูกแทนที่ด้วยความเขียวขจีของต้นไม้ที่เติมความสดชื่นเย็นสบายในบริเวณนั้นได้เป็นอย่างดี โดยภายในนั้นมีหลายจุดให้นักท่องเที่ยวที่สนใจได้แวะชม เริ่มต้นจากศึกษาข้อมูลเขานางพันธุรัตจากศาลาข้อมูลที่จัดแสดงภาพต่าง ๆ เกี่ยวกับเขาลูกนี้ รวมทั้งการตั้งชื่อส่วนต่าง ๆ ของเขาตามเรื่องราววรรณคดีสังข์ทอง ต่อด้วยการเดินเล่นในสวนหย่อมที่เหมาะสำหรับเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจท่ามกลางบรรยากาศเย็นสบาย ส่วนใครที่สนใจเรื่องราวของพระสังข์ ลองเดินไปชมบ่อจำลองที่เชื่อกันว่าเป็นบ่อทองที่พระสังข์ลงมาชุบตัวแล้วเอาชุดเจ้าเงาะ รวมทั้งของวิเศษหลบหนีนางพันธุรัตไป รวมทั้งจุดต่าง ๆ ที่มีความเกี่ยวพันตามท้องเรื่อง เช่น กระจกหน้านางพันธุรัต เมรุนางพันธุรัต เหล่านี้เป็นต้น รู้ก่อนเที่ยว ที่นี่ไม่มีบ้านพักบริการ หากต้องการพักแรม ต้องนำเต็นท์มาเองแล้วติดต่อขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ ภายในมีร้านอาหาร “ครัวสังข์ทอง” คอยบริการนักท่องเที่ยว